“วีรพล” เฉียบคว้าเหรียญเงิน-ทำเต็มที่แล้วประกาศสู้ใหม่ลุ้นเหรียญโอลิมปิก
“เวฟ" วีรพล วิชุมา จอมพลังวัย 19 ปี โชว์ฟอร์มยอดเยี่ยม กระชากเหรียญเงิน รุ่น 73 กิโลกรัม ชาย พร้อมทุบสถิติน้ำหนักรวมเยาวชนโลกและสถิติเยาวชนเอเชีย ยอมรับเสียดายไม่ถึงเหรียญทอง แต่ทำเต็มที่แล้ว ประกาศสู้ใหม่ลุ้นเหรียญโอลิมปิก "ปารีสเกมส์ 2024” ขณะที่ ราห์มัต เออร์วิน อับดุลลาห์ จากอินโดนีเซีย สุดโหด คว้าเหรียญทอง พร้อมทุบสถิติโลก, สถิติเอเชีย และสถิติเอเชี่ยนเกมส์ ในศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
การแข่งขันยกน้ำหนัก มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากก่อนหน้านี้ทีมจอมพลังไทยคว้ามาแล้ว1 เหรียญทองแดง จาก "อาร์ม" ธรรญธร สุขข์เจริญ รุ่น 49 กิโลกรัม หญิง ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ทีมไทยส่ง "เวฟ" วีรพล วิชุมา วัย 19 ปี เจ้าของ 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน ศึกยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ลงลุ้นเหรียญรางวัล ในรุ่น 73 กิโลกรัม ชาย โดยรุ่นนี้มีคู่แข่งสำคัญทั้ง "เจ้าภาพ" จีน, อินโดนีเซีย, เกาหลีเหนือ รวมถึง เกาหลีใต้
พร้อมกันนี้ "เสธ.ยอด"พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์สหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย, นางบุษบา ยอดบางเตย ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ ในฐานะที่ปรึกษาประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย และ ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพละศึกษา ในฐานะคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย ยังมาให้กำลังใจติดขอบสนามเช่นเดิม
เริ่มต้นท่าสแนทช์ วีรพล เรียกเหล็ก 151, 154, 156 กิโลกรัม ยกผ่านไปได้ทั้งหมด อยู่อันดับ 3 เป็นรอง เว่ย ยินติง ความหวังสำคัญของ "เจ้าภาพ" จีน ทำสถิติท่าสแนทช์นำเป็นอันดับ 1 ที่ 161 กิโลกรัม พร้อมทำลายสถิติมาตรฐานเอเชี่ยนเกมส์ที่กำหนดไว้ 156 กิโลกรัม ตามมาด้วย ราห์มัต เออร์วิน อับดุลลาห์ จากอินโดนีเซีย ที่ยกได้ 158 กิโลกรัม
จากนั้นท่าคลีนแอนด์เจิร์ก เว่ย ยินติง จากจีน เรียกเหล็ก 180 กิโลกรัม ยกไม่ผ่านทั้งหมด จึงไม่มีสถิติท่านี้ และไม่มีสถิติน้ำหนักรวม พร้อมส่งผลให้ วีรพล ได้ลุ้นแย่งเหรียญทองกับจอมพลังจากอินโดนีเซีย ปรากฏว่า วีรพล ยกผ่านครั้งแรกที่ 190 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 ยกไม่ผ่านที่ 195 กิโลกรัม ก่อนจะออกมาแก้ตัวสำเร็จที่น้ำหนักเดิม สถิติอยู่ที่ 195 กิโลกรัม พร้อมขยับน้ำหนักรวมไปอยู่ที่ 351 กิโลกรัม ทำลายสถิติเยาวชนโลกและสถิติเยาวชนเอเชียของ ริซกี จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย ที่ทำไว้ 349 กิโลกรัม คว้าเหรียญเงินไปครอง
ส่วน ราห์มัต เออร์วิน อับดุลลาห์ จากอินโดนีเซีย โชว์ฟอร์มเหนือชั้น ท่าคลีนแอนด์เจิร์กยกได้ 201 กิโลกรัม ทำลายสถิติโลกและสถิติเอเชียของตัวเองที่ทำไว้ 200 กิโลกรัม พร้อมทำลายสถิติมาตรฐานเอเชี่ยนเกมส์ที่กำหนดไว้ 189 กิโลกรัม ขยับน้ำหนักรวมไปอยู่ที่ 359 กิโลกรัม คว้าเหรียญทองไปครอง ทำลายสถิติมาตรฐานเอเชี่ยนเกมส์ที่กำหนดไว้ 339 กิโลกรัม ขณะที่เหรียญทองแดง เป็นของ โฮ คุมเต็ก จากเกาหลีเหนือ น้ำหนักรวม 344 กิโลกรัม (สแนทช์ 151 กิโลกรัม, คลีนแอนด์เจิร์ก 193 กิโลกรัม
“เวฟ” วีรพล วิชุมา เปิดเผยว่า ยอมรับว่าตื่นเต้น แต่ถือว่าคุมตัวเองได้ดี ตนทำได้ดีที่สุดแล้ว แม้จะไม่ถึงเหรียญทอง ถามว่าเสียดายไหมก็นิดหน่อย ถือว่าดีใจแล้ว ตอนยกไม่ได้ดูคนอื่นยกเลย แค่ตั้งสติ คิดว่าแข่งกับตัวเองคนเดียว ตนมีตัวเองเป็นไอดอล ส่วนโอลิมปิก ปารีสเกมส์ 2024 คิดจากเก็บคะแนน 5 แมตช์ ตอนนี้มีกาตาร์เดือนธันวาคม, ชิงแชมป์เอเชีย, เวิลด์ คัพที่ไทย ปิดท้าย มั่นใจว่าจะได้โควต้า จากผลงานในครั้งนี้ทำให้มั่นใจ ส่วนตัวก็หวังถึงเหรียญโอลิมปิกเช่นกัน
สรุปผลงานจอมพลังไทยคว้าไปแล้ว 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
สำหรับทัพยกเหล็กไทยยังมีโปรแกรมชิงชัย ดังนี้ วันที่4 ตุลาคม 2566 รุ่น 81 กิโลกรัม ชาย นายจตุภูมิ ชินวงค์, นายวรพรต นาสุริวงศ์ เวลา 19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.)/ วันที่ 5 ตุลาคม 2566 รุ่น 96 กิโลกรัม ชาย กลุ่มเอ นายศรัท สุ่มประดิษฐ์ เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.), รุ่น 76 กิโลกรัม หญิง กลุ่มเอ น.ส.สิริยากร ไขพันดุง เวลา19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.) และ วันที่ 7 ตุลาคม 2566 รุ่นมากกว่า 87 กิโลกรัม หญิง น.ส. ดวงอักษร ใจดี เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.)