จอมพลังไทยเก็บเพิ่มอีก 3 เหรียญเงิน ศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 32
จอมพลังไทยคว้าเพิ่มอีก 3 เหรียญเงิน จาก "สุรัสวดี-วิษณุ-อนุชา" พร้อมใจเก็บเหรียญเงิน ขณะที่ ริซกี้ จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย คว้าเหรียญทอง รุ่น 73 กิโลกรัมชาย พร้อมทุบสถิติทั้ง 3 ท่า ในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา สรุปผลงานทัพยกน้ำหนักไทยคว้าไปแล้ว 1 เหรียญทอง, 4 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง
การแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก มหกรรมซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เปิดฉากชิงชัยวันแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 โดยจอมพลังไทยคว้าไปแล้ว 1 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง โดยเหรียญทองได้จาก "แนน" ร้อยโทหญิง ศานิกุณ ธนสาร รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง, เหรียญเงิน ได้จาก ธาดา สมบุญอ้วน รุ่น 55 กิโลกรัมชาย และ 1 เหรียญทองแดง จาก อส.ทพ.ธีรพัฒน์ ชมชื่น รุ่น 61 กิโลกรัมชาย
ล่าสุด วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ชิง 4 เหรียญทอง ผลมีดังนี้ รุ่น 67 กิโลกรัมชาย อส.ทพ.วิษณุ จันทรี พลาดเหรียญทองไปอย่างน่าเสียดาย หลังโดน มินห์ ตริ ตรัน จากเวียดนาม เบียดแซงในการยกท่าคลีนแอนด์เจิร์กครั้งสุดท้าย ทำให้จอมพลังหนุ่มไทยรับเหรียญเงินปลอบใจ สถิติน้ำหนักรวม 305 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 137 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 168 กิโลกรัม)/ เหรียญทอง มินห์ ตริ ตรัน จากเวียดนาม 306 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 130 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 176 กิโลกรัม ทำลายสถิติซีเกมส์ โดยสถิติเดิมอยู่ที่ 173 กิโลกรัม)/ เหรียญทองแดง โมฮัมหมัด ยาซิน จากอินโดนีเซีย 304 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 137 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 167 กิโลกรัม)
รุ่น 73 กิโลกรัมชาย จ่าเอกอนุชา ดวงศรี รับเหรียญเงิน สถิติน้ำหนักรวม 315 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 140 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 175 กิโลกรัม)/ เหรียญทอง ริซกี้ จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย สถิติน้ำหนักรวม 347 กิโลกรัม ทำลายสถิติซีเกมส์ โดยสถิติเดิมอยู่ที่ 345 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 156 กิโลกรัม ทำลายสถิติซีเกมส์ โดยสถิติเดิมอยู่ที่ 155 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 191 กิโลกรัม ทำลายสถิติซีเกมส์ โดยสถิติเดิมอยู่ที่ 190 กิโลกรัม)/ เหรียญทองแดง บุย กี ซือ จากเวียดนาม 311 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 136 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 175 กิโลกรัม)
รุ่น 59 กิโลกรัมหญิง น.ส.สุรัสวดี ยอดสาร คว้าเหรียญเงิน สถิติน้ำหนักรวม 206 กิโลกรัม (สแนทช์ 91 กิโลกรัม คลีนแอนด์เจิร์ก 115 กิโลกรัม)/ เหรียญทอง เอลรีน แอนน์ ควินลิตัน อันโด จากฟิลิปปินส์ น้ำหนักรวม 216 กิโลกรัม (สแนทช์ 98 กิโลกรัม คลีนแอนด์เจิร์ก 118 กิโลกรัม)/ เหรียญทองแดง ฮอง ธิ เดียน จากเวียดนาม น้ำหนักรวม 205 กิโลกรัม (สแนทช์ 93 กิโลกรัม คลีนแอนด์เจิร์ก 112 กิโลกรัม)
รุ่น 55 กิโลกรัมหญิง น.ส.โป๊ยเซียน ยอดสาร ท่าสแนทช์ ครั้งแรกเรียกเหล็ก 83 กิโลกรัม ยกไม่ผ่าน ครั้งที่ 2 พยายามออกมาแก้ตัวอีกครั้งที่น้ำหนักเดิม แต่ยกไม่ผ่านอีกเช่นเคย ก่อนจะตัดสินใจไม่ออกมายกครั้งที่ 3 เนื่องจากมีปัญหาอาการบาดเจ็บ ไม่มีเหรียญรางวัล ส่วนเหรียญทอง เป็นของ จูเลียนา คาริสา จากอินโดนีเซีย 186 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 81กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 105กิโลกรัม)/ เหรียญเงิน โรสาลินดา บัคลัส ฟอส์ติโน จากฟิลิปปินส์ 184 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 80กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 104 กิโลกรัม)/ เหรียญทองแดง ไตร โซพีคริช จากกัมพูชา 83 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 36 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 47กิโลกรัม)
สรุปผลงานทัพยกน้ำหนักไทยคว้าไปแล้ว 1 เหรียญทอง, 4 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง
สำหรับโปรแกรมการแข่งขันรุ่นอื่นๆ ของทีมไทย มีดังนี้ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ชิง 3 เหรียญทอง แต่ทีมไทยส่งแข่งขัน 2 รุ่น เวลา 12.00 น. รุ่น 81 กิโลกรัมชาย นายจตุภูมิ ชินวงศ์ และเวลา 14.00 น. รุ่น 71 กิโลกรัมหญิง น.ส.ทิพย์วรา จรถวิล
วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ชิง 3 เหรียญทอง ทีมไทยแข่ง 2 รุ่น เวลา 12.00 น. รุ่นมากกว่า 71 กิโลกรัมหญิง น.ส.ดวงอักษร ใจดี และเวลา 14.00 น. รุ่นมากกว่า 89 กิโลกรัมชาย นายรุ่งสุริยา ปัญญะ