Skip to main content

ข่าวประชาสัมพันธ์

“ศรัท” คว้าเหรียญทองแดง รุ่น 96 กก.ชาย ศึกเอเชี่ยนเกมส์ ที่หางโจว

จอมพลังหนุ่มไทย "บอม" ศรัท สุ่มประดิษฐ คว้าเหรียญทองแดง รุ่น 96 กิโลกรัม ชาย ศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ยอมรับท่าคลีนแอนด์เจิร์กเสียจังหวะตอนวอร์มอัพ เหตุจากมีนักกีฬาถอนตัว ทำให้ยกพลาด แต่พอใจสถิติ เตรียมมุ่งมั่นคว้าตั๋วโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.2024 ขณะที่เหรียญทองเป็นของ เทียน เตา จากจีน

การแข่งขันยกน้ำหนัก มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากก่อนหน้านี้ทีมจอมพลังไทยคว้ามาแล้ว 1 เหรียญเงิน จาก "เวฟ" วีรพล วิชุมา รุ่น 73 กิโลกรัม ชาย และ 1 เหรียญทองแดง จาก "อาร์ม" ธรรญธร สุขข์เจริญ รุ่น 49 กิโลกรัม หญิง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ทีมไทยส่ง "บอม" นายศรัท สุ่มประดิษฐ ดีกรีอันดับ 4 โอลิมปิกเกมส์ "ริโอ 2016" ลุ้นเหรียญรางวัลรุ่น 96 กิโลกรัม ชาย เริ่มตันท่าสแนทช์ ศรัท ยกผ่านครั้งแรกที่ 172 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 เรียกเหล็ก 176 กิโลกรัม แต่ยกไม่ผ่าน ก่อนจะออกมาแก้ตัวสำเร็จที่น้ำหนักเดิม สถิติอยู่ที่ 176 กิโลกรัม

ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก จอมพลังหนุ่มไทยเรียกเหล็กครั้งแรก 208 กิโลกรัม ยกไม่ผ่าน แม้จะพยายามออกมาแก้ตัวในครั้งที่ 2 ก็ยังทำไม่สำเร็จ ทำให้จะพลาดอีกไม่ได้แล้ว จากนั้น ศรัท ตัดสินใจออกมายกในครั้งสุดท้าย ที่น้ำหนักเดิม ยกผ่านไปได้สำเร็จ สถิติอยู่ที่ 208 กิโลกรัม ขยับน้ำหนักรวมไปอยู่ที่ 384 กิโลกรัม รับเหรียญทองแดง ถือเป็นการคว้าเหรียญทองแดง "เอเชี่ยนเกมส์" 2 สมัยติดต่อกัน หลังจากเคยทำได้เมื่อปี ค.ศ.2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

ขณะที่เหรียญทองเป็นของ เทียน เตา จากจีน น้ำหนักรวม 390 กิโลกรัม (สแนทช์ 180 กิโลกรัม, คลีนแอนด์เจิร์ก 210 กิโลกรัม) และเหรียญเงินเป็นของ โร กวางรยอล จากเกาหลีเหนือ น้ำหนักรวม 386 กิโลกรัม (สแนทช์ 170 กิโลกรัม, คลีนแอนด์เจิร์ก 216 กิโลกรัม ทำลายสถิติเอเชี่ยนเกมส์)

หลังจบเกม ศรัท กล่าวว่า สถิติทำได้มากกว่าตอนที่ฝึกซ้อม ตอนท่าคลีนแอนด์เจิร์กนั้นมีนักกีฬาไต้หวันถอนตัว ทำให้เสียจังหวะการวอร์มอัพ เลยยกพลาด แต่ก็พอใจกับผลงานครั้งนี้ เพราะก่อนมาแข่งขันไม่ได้คาดหวังเหรียญมากนักอยากยกให้ดีที่สุด เพื่อไปโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากนี้จะต้องฝึกซ้อมให้มากขึ้น ทานอาหารเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น เพราะโอลิมปิกเกมส์จะต้องแข่งรุ่น 102 กก. ก็จะต้องซ้อมแล้วไปเก็บคะแนนที่กาตาร์ต่อไป

สรุปผลงานจอมพลังไทยคว้าไปแล้ว 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง

สำหรับทัพยกเหล็กไทยยังมีโปรแกรมชิงชัยส่งท้ายในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 รุ่นมากกว่า 87 กิโลกรัม หญิง น.ส. ดวงอักษร ใจดี เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.)

  • ฮิต: 1703

“วีรพล” เฉียบคว้าเหรียญเงิน-ทำเต็มที่แล้วประกาศสู้ใหม่ลุ้นเหรียญโอลิมปิก

“เวฟ" วีรพล วิชุมา จอมพลังวัย 19 ปี โชว์ฟอร์มยอดเยี่ยม กระชากเหรียญเงิน รุ่น 73 กิโลกรัม ชาย พร้อมทุบสถิติน้ำหนักรวมเยาวชนโลกและสถิติเยาวชนเอเชีย ยอมรับเสียดายไม่ถึงเหรียญทอง แต่ทำเต็มที่แล้ว ประกาศสู้ใหม่ลุ้นเหรียญโอลิมปิก "ปารีสเกมส์ 2024” ขณะที่ ราห์มัต เออร์วิน อับดุลลาห์ จากอินโดนีเซีย สุดโหด คว้าเหรียญทอง พร้อมทุบสถิติโลก, สถิติเอเชีย และสถิติเอเชี่ยนเกมส์ ในศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

การแข่งขันยกน้ำหนัก มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากก่อนหน้านี้ทีมจอมพลังไทยคว้ามาแล้ว1 เหรียญทองแดง จาก "อาร์ม" ธรรญธร สุขข์เจริญ รุ่น 49 กิโลกรัม หญิง ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ทีมไทยส่ง "เวฟ" วีรพล วิชุมา วัย 19 ปี เจ้าของ 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน ศึกยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ลงลุ้นเหรียญรางวัล ในรุ่น 73 กิโลกรัม ชาย โดยรุ่นนี้มีคู่แข่งสำคัญทั้ง "เจ้าภาพ" จีน, อินโดนีเซีย, เกาหลีเหนือ รวมถึง เกาหลีใต้

IMG 1619

พร้อมกันนี้ "เสธ.ยอด"พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์สหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย, นางบุษบา ยอดบางเตย ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ ในฐานะที่ปรึกษาประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย และ ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพละศึกษา ในฐานะคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย ยังมาให้กำลังใจติดขอบสนามเช่นเดิม

เริ่มต้นท่าสแนทช์ วีรพล เรียกเหล็ก 151, 154, 156 กิโลกรัม ยกผ่านไปได้ทั้งหมด อยู่อันดับ 3 เป็นรอง เว่ย ยินติง ความหวังสำคัญของ "เจ้าภาพ" จีน ทำสถิติท่าสแนทช์นำเป็นอันดับ 1 ที่ 161 กิโลกรัม พร้อมทำลายสถิติมาตรฐานเอเชี่ยนเกมส์ที่กำหนดไว้ 156 กิโลกรัม ตามมาด้วย ราห์มัต เออร์วิน อับดุลลาห์ จากอินโดนีเซีย ที่ยกได้ 158 กิโลกรัม

IMG 1625

จากนั้นท่าคลีนแอนด์เจิร์ก เว่ย ยินติง จากจีน เรียกเหล็ก 180 กิโลกรัม ยกไม่ผ่านทั้งหมด จึงไม่มีสถิติท่านี้ และไม่มีสถิติน้ำหนักรวม พร้อมส่งผลให้ วีรพล ได้ลุ้นแย่งเหรียญทองกับจอมพลังจากอินโดนีเซีย ปรากฏว่า วีรพล ยกผ่านครั้งแรกที่ 190 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 ยกไม่ผ่านที่ 195 กิโลกรัม ก่อนจะออกมาแก้ตัวสำเร็จที่น้ำหนักเดิม สถิติอยู่ที่ 195 กิโลกรัม พร้อมขยับน้ำหนักรวมไปอยู่ที่ 351 กิโลกรัม ทำลายสถิติเยาวชนโลกและสถิติเยาวชนเอเชียของ ริซกี จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย ที่ทำไว้ 349 กิโลกรัม คว้าเหรียญเงินไปครอง

ส่วน ราห์มัต เออร์วิน อับดุลลาห์ จากอินโดนีเซีย โชว์ฟอร์มเหนือชั้น ท่าคลีนแอนด์เจิร์กยกได้ 201 กิโลกรัม ทำลายสถิติโลกและสถิติเอเชียของตัวเองที่ทำไว้ 200 กิโลกรัม พร้อมทำลายสถิติมาตรฐานเอเชี่ยนเกมส์ที่กำหนดไว้ 189 กิโลกรัม ขยับน้ำหนักรวมไปอยู่ที่ 359 กิโลกรัม คว้าเหรียญทองไปครอง ทำลายสถิติมาตรฐานเอเชี่ยนเกมส์ที่กำหนดไว้ 339 กิโลกรัม ขณะที่เหรียญทองแดง เป็นของ โฮ คุมเต็ก จากเกาหลีเหนือ น้ำหนักรวม 344 กิโลกรัม (สแนทช์ 151 กิโลกรัม, คลีนแอนด์เจิร์ก 193 กิโลกรัม

IMG 1630

“เวฟ” วีรพล วิชุมา เปิดเผยว่า ยอมรับว่าตื่นเต้น แต่ถือว่าคุมตัวเองได้ดี ตนทำได้ดีที่สุดแล้ว แม้จะไม่ถึงเหรียญทอง ถามว่าเสียดายไหมก็นิดหน่อย ถือว่าดีใจแล้ว ตอนยกไม่ได้ดูคนอื่นยกเลย แค่ตั้งสติ คิดว่าแข่งกับตัวเองคนเดียว ตนมีตัวเองเป็นไอดอล ส่วนโอลิมปิก ปารีสเกมส์ 2024 คิดจากเก็บคะแนน 5 แมตช์ ตอนนี้มีกาตาร์เดือนธันวาคม, ชิงแชมป์เอเชีย, เวิลด์ คัพที่ไทย ปิดท้าย มั่นใจว่าจะได้โควต้า จากผลงานในครั้งนี้ทำให้มั่นใจ ส่วนตัวก็หวังถึงเหรียญโอลิมปิกเช่นกัน
สรุปผลงานจอมพลังไทยคว้าไปแล้ว 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง

สำหรับทัพยกเหล็กไทยยังมีโปรแกรมชิงชัย ดังนี้ วันที่4 ตุลาคม 2566 รุ่น 81 กิโลกรัม ชาย นายจตุภูมิ ชินวงค์, นายวรพรต นาสุริวงศ์ เวลา 19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.)/ วันที่ 5 ตุลาคม 2566 รุ่น 96 กิโลกรัม ชาย กลุ่มเอ นายศรัท สุ่มประดิษฐ์ เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.), รุ่น 76 กิโลกรัม หญิง กลุ่มเอ น.ส.สิริยากร ไขพันดุง เวลา19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.) และ วันที่ 7 ตุลาคม 2566 รุ่นมากกว่า 87 กิโลกรัม หญิง น.ส. ดวงอักษร ใจดี เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.)

  • ฮิต: 3223

“ธรรญธร” ประเดิมเหรียญทองแดง รุ่น 49 กก.หญิง “หางโจวเกมส์”

“อาร์ม" ธรรญธร สุขข์เจริญ ประเดิมเหรียญทองแดง รุ่น 49 กิโลกรัม หญิง ให้ทีมจอมพลังไทย ในศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 เจ้าตัวสุดดีใจสถิติดีกว่าตอนซ้อม หวังลุยโอลิมปิก “ปารีสเกมส์“ ขณะที่ “รี ซองกุม“ สาวเกาหลีเหนือโชว์ฟอร์มหรูคว้าเหรียญทอง พร้อมทำลายสถิติโลกและสถิติเอเชี่ยนเกมส์ ส่วน “เจียง ฮุยฮัว” ตัวเต็งจากจีน รับเหรียญเงิน

การแข่งขันยกน้ำหนัก มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเดิมชิงชัยวันแรก วันที่ 30 กันยายน 2566 ทีมจอมพลังไทยส่ง 2 จอมพลังสาว "อาร์ม" ธรรญธร สุขข์เจริญ และ "แนน" ร.อ.หญิง ศานิกุณ ธนสาร ประเดิมลุ้นเหรียญรางวัลในรุ่น 49 กิโลกรัม หญิง โดย "เสธ.ยอด"พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์สหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย, นางบุษบา ยอดบางเตย ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ ในฐานะที่ปรึกษาประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย และ ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพละศึกษา ในฐานะคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย เดินทางมาให้กำลังใจติดขอบสนามด้วย

เริ่มต้นท่าสแนทช์ ธรรญธร เรียกเหล็ก 86, 88, 90 กิโลกรัม ยกผ่านทั้งหมด สถิติอยู่ที่ 90 กิโลกรัม ต่อมาท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ธรรญธร เรียกเหล็ก 105, 107, 109 กิโลกรัม ยกผ่านทั้งหมด สถิติอยู่ที่ 109 กิโลกรัม ทำให้สถิติน้ำหนักรวมมี 199 กิโลกรัม คว้าเหรียญทองแดงมาคล้องคอเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากเคยทำได้ในครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย นับเป็นเหรียญรางวัลแรกของจอมพลังไทยในรายการนี้

IMG 2873

ส่วน ร.อ.หญิง ศานิกุณ ท่าสแนทช์ทำสถิติ 85 กิโลกรัม แต่ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก เรียกเหล็ก 103 กิโลกรัม ยกไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง จึงไม่มีสถิติในท่านี้ และไม่มีสถิติ น้ำหนักรวม

ขณะที่ รี ซองกุม จากเกาหลีเหนือ โชว์ฟอร์มยอดเยี่ยม ท่าสแนทช์ ยกได้ 92 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ยกได้ 124 กิโลกรัม ทำลายสถิติโลก ของ เจียง ฮุยฮัว จากจีน ที่ทำไว้ 120 กิโลกรัม และทำลายสถิติเอเชี่ยนเกมส์ พร้อมขยับน้ำหนักรวมไปอยู่ที่ 216 กิโลกรัม ทำลายสถิติโลกเดิมของ เจียง ฮุยฮัว ของจีน ที่ทำไว้ 215 กิโลกรัม และทำลายสถิติเอเชี่ยนเกมส์ คว้าเหรียญทองไปครองแบบช็อคแฟนกีฬาเจ้าถิ่น เนื่องจาก เจียง ฮุยฮัว ดีกรีแชมป์โลกตัวเต็งของจีน ออกสตาร์ทสวย จบอันดับ 1 ในท่าสแนทช์ ยกได้ 94 กิโลกรัม ทำลายสถิติเอเชี่ยนเกมส์ แต่ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ยกได้ 119 กิโลกรัม ทำให้น้ำหนักรวมอยู่ที่ 213 กิโลกรัม จึงได้เพียงเหรียญเงิน

IMG 1521

ธรรญธร กล่าวว่า ดีใจมากๆ เพราะทำเต็มที่ที่สุดแล้วเป็นสถิติที่ดีกว่าตอนซ้อม ซึ่งตนเพิ่งกลับมาซ้อมได้เพียง 2 สัปดาห์ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บ เหรียญนี้ขอมอบให้ตัวเองเพราะตั้งใจเต็มที่มากๆ รวมถึงให้คนไทย พ่อและแม่ ด้วย

“เป้าหมายต่อไปอยากพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนโอลิมปิก ค.ศ.2024 ”ปารีสเกมส์“ ก็อยากไปให้ได้ เพราะน่าจะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของตัวเองเนื่องจากอายุเยอะแล้ว คงจะเล่นได้ไม่นานกว่านี้”

สำหรับโปรแกรมการแข่งขันของทีมยกเหล็กไทย วันที่ 1 ตุลาคม 2566 มีดังนี้ รุ่น 61 กิโลกรัมชาย กลุ่มเอ นายธีรพงศ์ ศิลาชัย เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.)/ รุ่น 67 กิโลกรัมชาย กลุ่มเอ อส.ทพ.วิษณุ จันทรี และ จ่าเอกอนุชา ดวงศรี เวลา19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.)

IMG 1522

  • ฮิต: 1844

"ศานิกุณ-ธรรญธร-ณัฐชา" ประเดิมชิงชัยยกน้ำหนัก “หางโจวเกมส์”

3 จอมพลังไทย "ศานิกุณ-ธรรญธร-ณัฐชา" เตรียมประเดิมชิงชัยยกน้ำหนักในมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ในวันที่ 30 กันยายน 2566 เจองานหนักทั้งจีนเจ้าภาพ รวมถึงเกาหลีเหนือที่ส่งนักยกเหล็กร่วมชิงชัย

ความเคลื่อนไหวการแข่งขันยกน้ำหนัก ในมหกรรมเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จะชิงชัยกันระหว่างวันที่ 30 กันยายน ถึง 7 ตุลาคม 2566 ที่เซียวซานสปอร์ตเซ็นเตอร์ ยิมเนเซี่ยม เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมามีประชุมทีมเพื่อยืนยันจำนวนนักกีฬาและรุ่นการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยกน้ำหนักในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ ชิง 14 เหรียญทอง หญิง 7 เหรียญทอง และชาย 7 เหรียญทอง มีจอมพลังทั้งสิ้น 183 คน แบ่งเป็นหญิง 83 คน และ ชาย 100 คน จาก 30 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน และมีเพียง 4 ประเทศที่ส่งนักกีฬาครบโควต้า 14 คน ประกอบด้วย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ คาซัคสถาน และ ไทย ส่วนเจ้าภาพส่งนักกีฬา 13 คน เป็นหญิง 6 คน และ ชาย 7 คน

สำหรับโปรแกรมการแข่งขันของนักกีฬาไทย มีดังนี้ วันที่ 30 กันยายน 2566 รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง กลุ่มเอ น.ส.ธรรญธร สุขข์เจริญ และ ร.อ.หญิง ศานิกุณ ธนสาร รุ่น 49 กิโลกรัม เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.) รุ่น 55 กิโลกรัมหญิง กลุ่มเอ น.ส.ณัชชา แก้วน้อย เวลา 19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.)

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 รุ่น 61 กิโลกรัมชาย กลุ่มเอ นายธีรพงศ์ ศิลาชัย เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.) รุ่น 67 กิโลกรัมชาย กลุ่มเอ อส.ทพ.วิษณุ จันทรี และ จ่าเอกอนุชา ดวงศรี เวลา19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.)

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 รุ่น 64 กิโลกรัมหญิง กลุ่มบี น.ส. ทิพย์วรา จรถวิล เวลา 10.00 น. (เวลาไทย 9.00 น.) และรุ่น 59 กิโลกรัมหญิง กลุ่มเอ น.ส.ธนพร แซ่เตีย เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.)

IMG 1492

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 รุ่น 73 กิโลกรัมชาย กลุ่มเอ นายวีรพล วิชุมา เวลา19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.)

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 รุ่น 81 กิโลกรัมชาย นายจตุภูมิ ชินวงค์ และนายวรพรต นาสุริวงศ์ เวลา 19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.)

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 รุ่น 96 กิโลกรัมชาย กลุ่มเอ นายศรัท สุ่มประดิษฐ์ เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.) และรุ่น 76 กิโลกรัมหญิง กลุ่มเอ น.ส.สิริยากร ไขพันดุง เวลา19.00 น. (เวลาไทย 18.00 น.)

วันที่ 7 ตุลาคม 2566 รุ่นมากกว่า 87 กิโลกรัมหญิง น.ส. ดวงอักษร ใจดี เวลา 15.00 น. (เวลาไทย 14.00 น.)

  • ฮิต: 1984