Skip to main content

ข่าวประชาสัมพันธ์

สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ร่วมสัมมนา พรบ.สารต้องห้าม

สมาคมกีฬายกน้ำหนักหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย มอบหมายให้ พลอากาศโท วัฒนชัย เจริญรัตน์ กรรมการและประธานฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ, นายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ที่ปรึกษาสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ, ว่าที่ร้อยตรี ศักดิ์ชัย ธิตะจารี ผู้ฝึกสอนกีฬายกน้ำหนัก และ นายมรกต ภูมิพานิช เจ้าหน้าที่ประสานงานต่างประเทศ สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ เข้าร่วมโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ชั้น 8 โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

สำหรับโครงการสัมมนาดังกล่าวดำเนินการโดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Code : WADC) และมาตรฐานสากล รวมทั้งจัดตั้งสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของประเทศไทยให้เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่ประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกกำหนด

  • ฮิต: 1484

นักกีฬายกน้ำหนักเข้าฟื้นฟูร่างกายที่ศูนย์วิทย์ฯ กกท. เตรียมบุกโดฮา

จอมพลังไทยเร่งฟื้นฟูร่างกายหลังกรำศึกหนักมาตลอดทั้งปี เข้ารับการบำบัดที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนเดินทางแข่งขันยกน้ำหนักเวิลด์กรังด์ปรีซ์ II ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 4-14 ธันวาคม 2566

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 พลเอก วิสุทธิ์ เดชสกุล เลขาธิการสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และ พลโท วุฒิไชย อิศระ ที่ปรึกษาสมาคมฯ นำคณะนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย เข้ารับการฟื้นฟูร่างกายที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมี นายสุวัตร หลวงตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬาให้คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิดในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เครื่องบำบัดด้วยแรงดัน (Pneumatic Compression) ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อลดอาการปวดบวม/ เตียงนวดน้ำ (Massage Bed) ที่ใช้ระบบแรงดันน้ำในการนวด รวมถึงเครื่องฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยความเย็น (Whole Body Cryo Therapy) โดยเครื่องนี้จะใช้ความเย็น อุณหภูมิลบ 100 ถึง ลบ180 องศาเซลเซียส บรรเทาอาการบาดจากการซ้อมหรือแข่งขันที่หนักมากๆ หรืออาการบาดเจ็บด้วยสาเหตุอื่น

อนึ่ง นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ยังมีการแข่งขันอีก 3 รายการที่ต้องแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนสะสมเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย การแข่งขันยกน้ำหนักเวิลด์กรังด์ปรีซ์ II ระหว่างวันที่ 4-14 ธันวาคม 2566 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์, การแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย 2024 ระหว่างวันที่ 3-10 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงทาชเคนท์ ประเทศอุซเบกิซสถาน และ การแข่งขันเวิลด์คัพ 2024 ที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 11 เมษายน 2567

  • ฮิต: 1966

ทีมยกน้ำหนักชุดลุยศึกเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งโลกกลับถึงไทยแล้ว

นาวาเอก เพชรเกษม รตาภรณ์ รองเลขาธิการและนายทะเบียน สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และ นางสาวปัทมา ลำเต็ม เหรัญญิก ให้การต้อนรับคณะยกน้ำหนักทีมชาติไทย ประกอบด้วย นายสมภพ กรณ์ทอง ผู้จัดการทีม, นางสาวปวันรัตน์ ฉัตรแก้ว นักกีฬารุ่น 59 กิโลกรัมหญิง, นางสาวภัทรธิดา วงษ์สิงห์ นักกีฬารุ่น 71 กิโลกรัมหญิง, จ่าเอกหญิง สายพิณ เดชแสง และนางสาวชุติกาญจน์ ผาลใจ ผู้ฝึกสอน ที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย เมื่อเวลา 14.55 น.ของวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 หลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันยกน้ำหนักเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งโลก ระหว่างวันที่ 15-23 พฤศจิกายน ณ กรุงกัวดาราฮาลา ประเทศเม็กซิโก ผลงานครั้งนี้ของทีมชาติไทยได้มา 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง จากภัทรธิดา วงษ์สิงห์

ทั้งนี้ ภารกิจต่อไปของจอมพลังทีมชาติไทย จะร่วมการแข่งขันยกน้ำหนักเวิลด์กรังด์ปรีซ์ II ระหว่างวันที่ 4-14 ธันวาคม 2566 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

  • ฮิต: 1574

“ภัทรธิดา“ คว้า 2 เงิน-1 ทองแดง ศึกเยาวชนโลก ที่เม็กซิโก

"ไอซ์" ภัทรธิดา วงษ์สิงห์ ทำผลงานดีคว้า 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง รุ่น 71 กิโลกรัมหญิง ขณะที่ “อั้ม" ปวันรัตน์ ฉัตรแก้ว ทำผลงานดีที่สุดด้วยการจบอันดับ 10 ท่าสแนทช์ รุ่น 59 กิโลกรัม หญิง ในศึกยกน้ำหนักเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2566 ที่นครกัวดาลาฮารา ประเทศเม็กซิโก

การแข่งขันยกน้ำหนักเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 15-23 พฤศจิยายน 2566 ที่นครกัวดาลาฮารา ประเทศเม็กซิโก ทีมไทยส่งนักกีฬาลงชิงชัย 2 คน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาประเทศไทย ทีมไทยส่ง "ไอซ์" ภัทรธิดา วงษ์สิงห์ ลงแข่งขันรุ่น 71 กิโลกรัมหญิง กลุ่มเอ

เริ่มต้นท่าสแนทช์ ภัทรธิดา ยกผ่านครั้งแรกที่ 90 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 92 กิโลกรัม จากนั้นครั้งที่ 3 เรียกเหล็ก 94 กิโลกรัม แม้จะดันเหล็กขึ้นเหนือศรีษะสำเร็จ แต่กรรมการตัดสินไม่ให้ผ่าน ทำให้สถิติอยู่ที่ 92 กิโลกรัม ได้เหรียญทองแดง

ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ภัทรธิดา ครั้งแรกยกไม่ผ่านที่ 116 กิโลกรัม ก่อนจะออกมาแก้ตัวสำเร็จในครั้งที่ 2 ที่น้ำหนักเดิม ครั้งที่ 3 เรียกเหล็ก 118 กิโลกรัม แต่ยกไม่ผ่าน ทำให้สถิติอยู่ที่ 116 กิโลกรัม คว้าเหรียญเงิน พร้อมขยับน้ำหนักรวมไปอยู่ที่ 208 กิโลกรัม รับเหรียญเงิน สรุป ภัทรธิดา คว้าไป 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง

ส่วน จอมพลัง "เจ้าภาพ" มาเรียนา การ์เซีย โกเมซ จากเม็กซิโก เหมา 3 เหรียญทอง โดยท่าสแนทช์ยกได้ 93 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 123 กิโลกรัม, น้ำหนักรวม 216 กิโลกรัม

ขณะที่ "อั้ม" ปวันรัตน์ ฉัตรแก้ว ลงแข่งขันรุ่น 59 กิโลกรัม กลุ่มเอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาประเทศไทย โดยท่าสแนทช์ ปวันรัตน์ ครั้งแรกยกผ่านที่ 77 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 79 กิโลกรัม ครั้งที่ 3 เรียกเหล็ก 81 กิโลกรัม แต่ยกไม่ผ่าน ทำให้สถิติอยู่ที่ 79 กิโลกรัม ได้อันดับ10ส่วนท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ปวันรัตน์ เรียกเหล็ก 101 กิโลกรัม ยกไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ทำให้ไม่มีสถิติในท่านี้ และไม่มีสถิติ น้ำหนักรวม พร้อมกันนี้ นายสมภพ กรณ์ทอง ผู้จัดการยกน้ำหนักทีมชาติไทย ได้ซื้อโดนัทฉลองวันเกิดให้ ปวันรัตน์ ที่อายุครบ 18 ปี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ด้วย

ส่วน สวิตลานา ซามูเลียค จากยูเครน คว้า 3 เหรียญทอง ท่าสแนทช์ 98 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 116 กิโลกรัม, นำ้หนักรวม 214 กิโลกรัม

ทั้งนี้ คณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ มีกำหนดถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 14.55 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566

  • ฮิต: 1543