“ศานิกุณ” คว้าเหรียญทอง, “ธาดา” ได้เหรียญเงิน, “ธีรพัฒน์” รับเหรียญทองแดง
จอมพลังไทยประเดิมซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา เก็บ 1 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง โดยเหรียญทองได้จาก "แนน" ร้อยโทหญิง ศานิกุณ ธนสาร รุ่น 49 กิโลกรัม หญิง, เหรียญเงิน ได้จาก ธาดา สมบุญอ้วน รุ่น 55 กิโลกรัม ชาย และ 1 เหรียญทองแดง จาก อส.ทพ.ธีรพัฒน์ ชมชื่น รุ่น 61 กิโลกรัม ชาย ส่วน เขมิกา กำเนิดศรี เจ็บกล้ามเนื้อหลัง จำใจถอนตัว
การแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก มหกรรมซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เปิดฉากชิงชัยวันแรก วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ชิง 4 เหรียญทอง จอมพลังไทยลงชิงชัยครบทั้ง 4 รุ่น โดย "เสธ.ยอด" พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และ "มาดามบุษ" บุษบา ยอดบางเตย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ เดินทางร่วมให้กำลังใจนักกีฬาไทยด้วย
ประเดิมวันแรกจอมพลังไทยเก็บไป 1 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง โดยเหรียญทองได้จากรุ่น 49 กิโลกรัม หญิง "แนน" ร้อยโทหญิง ศานิกุณ (โสภิตา) ธนสาร เจ้าของเหรียญทอง โอลิมปิก "ริโอเกมส์ 2016” โชว์ฟอร์มสมราคาคว้าเหรียญทองมาครอง 191 กิโลกรัม โดยท่าสแนทช์ ยกได้ 86 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 105 กิโลกรัม นับเป็นเหรียญทองแรกของจอมพลังไทยในซีเกมส์ครั้งนี้ ส่วน เหรียญเงิน เป็นของ วิดัล อินัน เลิฟลี จากฟิลิปปินส์ 178 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 78 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 100 กิโลกรัม), เหรียญทองแดง ไดอานา ตริ วิจายานา จากอินโดนีเซีย 173 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 78 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 95 กิโลกรัม)
รุ่น 55 กิโลกรัม ชาย ธาดา สมบุญอ้วน คว้าเหรียญเงิน ทำสถิติน้ำหนักรวม 248 กิโลกรัม โดยท่าสแนทช์ ยกได้ 118 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 130 กิโลกรัม นับเป็นเหรียญเงิน 2 สมัยติดต่อกัน หลังเคยคว้าเหรียญเงินจากซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม ส่วนเหรียญทองเป็นของ เกีย ธันห์ ไล จากเวียดนาม 261 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 121 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 140 กิโลกรัม), เหรียญทองแดง มูฮัมหมัด ฮุสนี จากอินโดนีเซีย 233 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 113 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 120 กิโลกรัม)
รุ่น 61 กิโลกรัม ชาย อส.ทพ.ธีรพัฒน์ ชมชื่น รับเหรียญทองแดง สถิติน้ำหนักรวม 296 กิโลกรัม ท่าสแนทช์ ยกได้ 131 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 165 กิโลกรัม ส่วนเหรียญทองเป็นของ เอคโค ยูลี ไอราวาน จากอินโดนีเซีย 303 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 133 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 170กิโลกรัม ทำลายสถิติซีเกมส์ โดยสถิติเดิมอยู่ที่ 169 กิโลกรัม), เหรียญเงิน จอห์น เฟบัวร์ แมนกูโรบัน เซนิซา จากฟิลิปปินส์ 297 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 128 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 169 กิโลกรัม)
รุ่น 45 กิโลกรัม หญิง เขมิกา กำเนิดศรี ท่าสแนทช์ ทำสถิติ 72 กิโลกรัม นำเป็นที่ 1 หลังจบท่าสแนทช์ ก่อนจะตัดสินใจถอนตัว ไม่ออกมายกท่าคลีนแอนด์เจิร์ก เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณหลัง พลาดเหรียญรางวัลไปอย่างเสียดาย ส่วนเหรียญทอง เป็นของ ซิน เมย์ โอ จากเมียนมา 164 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 71 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 93 กิโลกรัม), เหรียญเงิน แองเจลิน ลานดัก โคโลเนีย จากฟิลิปปินส์ 148 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 68 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 80 กิโลกรัม), เหรียญทองแดง บัวคำ พงสะกอน จากลาว 122 กิโลกรัม (ท่าสแนทช์ 51 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 71 กิโลกรัม)
สรุปผลงานทัพยกน้ำหนักไทยคว้าไปแล้ว 1 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง
สำหรับโปรแกรมการแข่งขันรุ่นๆ อื่นของทีมไทย มีดังนี้ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ชิง 4 เหรียญทอง เริ่มเวลา 10.00 น. รุ่น 55 กิโลกรัมหญิง น.ส.โป๊ยเซียน ยอดสาร เวลา 12.00 น. รุ่น 67 กิโลกรัม อส.ทพ.วิษณุ จันทรี เวลา 14.00 น. รุ่น 59 กิโลกรัมหญิง น.ส.สุรัสวดี ยอดสาร และ เวลา 16.00 น. รุ่น 73 กิโลกรัมชาย จ่าเอกอนุชา ดวงศรี
วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ชิง 3 เหรียญทอง แต่ทีมไทยส่งแข่งขัน 2 รุ่น เวลา 12.00 น. รุ่น 81 กิโลกรัมชาย นายจตุภูมิ ชินวงศ์ และเวลา 14.00 น. รุ่น 71 กิโลกรัมหญิง น.ส.ทิพย์วรา จรถวิล
วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ชิง 3 เหรียญทอง ทีมไทยแข่ง 2 รุ่น เวลา 12.00 น. รุ่นมากกว่า 71 กิโลกรัมหญิง น.ส.ดวงอักษร ใจดี และเวลา 14.00 น. รุ่นมากกว่า 89 กิโลกรัมชาย นายรุ่งสุริยา ปัญญะ